การจดทะเบียนสมรสกับชาวสวิส ในประเทศไทย กรณีจดเเล้วยังไม่ย้ายตามสามีไปสวิสฯ

Previous topic - Next topic

momay_bkk



เอกสารที่ต้องเตรียม

ภาษาไทย
http://www.eda.admin.ch/etc/medialib/downloads/edactr/tha.Par.0258.File.tmp/Ehe%20in%20THA_THA.pdf
ภาษาเยอรมัน
http://www.eda.admin.ch/etc/medialib/downloads/edactr/tha.Par.0250.File.tmp/Ehe%20in%20THA_DE.pdf

ฝ่ายชาย

- หนังสือรับรองสถานภาพการสมรส มีอายุไม่เกิน 6 เดือน

- หนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ มีอายุไม่เกิน 6 เดือน (สำหรับผู้ที่ขึ้นทะเบียนกับสถานทูตฯ ไม่จำเป็นต้องใช้)

- ต้นฉบับใบรับรองรายได้หรือใบรับรองสถานะทางการเงิน (สำหรับบุคคลทำงาน: หนังสือรับรองการทำงาน พร้อมระบุเงินเดือน, สถานทูตฯ ไม่รับหนังสือแสดงการชำระภาษีหรือใบแสดงการจ่ายเงินเดือนรวม / สำหรับผู้รับบำนาญ: หนังสือรับรองเงินบำนาญ ถ้าไม่มีรายได้ อนุญาตให้ใช้หนังสือรับรองบัญชีจากธนาคาร )

- ที่อยู่ของบุคคลอ้างอิงในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จำนวน 2 คน (ไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารราชการ เพียงแค่แจ้งข้อมูลที่อยู่เท่านั้น) เขียนชื่อ-และที่อยู่ใส่กระดาษเปล่าได้เลยค่ะ

- หนังสือเดินทาง

หนังสือรับรองสถานภาพการสมรสสามารถขอได้ที่สำนักทะเบียนถิ่นฐานเดิมของท่าน
หนังสือรับรองถิ่นที่อยู่สามารถขอได้ที่สำนักทะเบียนท้องถินที่ท่านพำนักอยู่
(2 อย่างข้างบนนี้แฟนเราขอออนไลน์จากระบบของสวิสได้ ใช้เวลา 2-3 วัน)

ฝ่ายหญิง

- ทะเบียนบ้านสำหรับช่วงเวลาพำนัก 6 เดือนล่าสุด

- สูติบัตรที่มีข้อมูลชื่อตัวและชื่อสกุลของบิดา-มารดา (ถ้าพ่อแม่เปลี่ยนชื่อก็เอาใบเปลี่ยนชื่อของท่านด้วยค่ะ)

- หลักฐานแสดงสถานภาพ (โสด, หย่าร้าง,ม่าย) ซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 เดือน (ขอได้ที่อำเภอหรือเขตที่เรามีทะเบียนบ้านอยู่เท่านั้น ของเมย์มอบอำนาจให้พ่อไปขอให้ที่อำเภอ พร้อมพยาน 2 คน)

- สำเนาทะเบียนครอบครัว (ขอคัดทีสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กรุงเทพฯ อยู่แถวๆสนามม้านางเลิ้ง อาคาร 3 ใช้เวลาไม่นานค่ะ รอรับได้เลย เอกสารที่ได้จะมี 3 หน้าคือใบคำร้อง ใบรับรองสถานนะการสมรส และใบรับรองสถานะการหย่าร้าง)

- สำเนาทะเบียนการหย่า (กรณีสถานภาพหย่าร้าง)

- มรณบัตรของคู่สมรสเดิมที่ถึงแก่กรรม (กรณีสถานภาพม่าย)

- หนังสือเดินทางประเทศไทยหรือบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีไม่มีหนังสือเดินทาง)

- ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุล

สำหรับท่านที่มีบุตรมีร่วมกัน

- สูติบัตร

- หนังสือเดินทางประเทศไทย

- ทะเบียนรับรองบุตร (ถ้าเป็นไปได้)

ท่านต้องยื่นต้นฉบับ(ตัวจริง) เอกสารต่างๆนี้หรือสำเนาที่ได้รับรองสำเนาถูกต้องอย่างเป็นทางการ (หมายถึงตัวที่ออกโดยอำเภอหรือเขตเท่านั้น ไม่ใช่รับรองสำเนาถูกต้อง) แล้ว ท่านต้องนำเอกสารต่างๆที่เป็นภาษาไทยไปให้สำนักงานแปลเอกสารแปลเป็นภาษาราชการของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ภาษาใดภาษาหนึ่ง (ภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส หรืออิตาเลียน) สามารถตรวจสอบรายชื่อสำนักงานแปลเอกสารได้ทีhttp://www.eda.admin.ch/etc/medialib/downloads/edactr/tha.Par.0416.File.tmp/Translation%20offices_en.pdf
(เขตที่เมย์อยู่ใช้ภาษาเยอรมัน เมย์แปลกับ อ.ดวงดี 089-8060909 ราคาไม่แพง สถานที่แปลอยู่อาคารมนียา BTS ชิดลม ใช้เวลา 2 วัน แต่ขึ้นอยู่กับคิวด้วยว่าแน่นหรือไม่ เพราะอาจารย์รับแปลเป็นงานเสริมค่ะ เรทของเมย์อยู่ที่ประมาณหน้าละ 700 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเอกสาร ข้อดีของสถานทูตสวิสฯคือเอกสารที่ต้องแปล เมื่อแปลผ่านสำนักแปลเอกสารที่สถานทูตรับรองแล้วไม่ต้องเสียเงินรับรองเอกสาร (ภาษากฎหมายก็ลงตรานิติกรณ์อะไรซักอย่าง ภาษาอังกฤษคือ Legalization เหมือนบางประเทศในยุโรป ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะเลย บางประเทศเช่นออสเตรีย ค่ารับรองเอกสารราคาชุดละ 40 ออยโรเลยทีเดียว )

จริงๆ ถ้ามีเวลาควรเข้าไปตรวจเอกสารก่อน เพราะอย่างกรณีเมย์ไม่เคยแต่งงานมาก่อน สำเนาทะเบียนครอบครัวต้องแปลแค่หน้าคำร้องแผ่นเดียว ไม่ต้องแปลใบรับรองสถานนะการสมรส และใบรับรองสถานะการหย่าร้าง ประหยัดเงินได้ไปอีกพันกว่าบาท แต่เมย์ไม่ได้เข้าไปเช็คเอกสารเลยเสียตรงนี้ไปค่ะ อีกอย่างเอกสารพวกนี้สามารถเตรียมล่วงหน้าได้ พอฝ่ายชายมาก็สามารถยื่นได้เลย และถ้าคิวไม่ยาวก็สามารถดำเนินการจดทะเบียนได้ภายในวันเดียวถ้าสามารถรับรองเอกสารแบบด่วนได้ค่ะ

การยื่นเอกสารเพื่อขอใบขอทำการสมรสของฝ่ายชายจากสถานทูต

นำเอกสารทั้งหมดไปยื่นที่สถานทูตสวิสฯ ถ.วิทยุ เวลาทำการ จ.-ศ. 9.00 – 11.30 น โดยไม่ต้องนัดหมาย ถ้าคิวไม่ยาวใช้เวลาประมาณ ครึ่งชั่วโมงก็เสร็จค่ะ แต่ถ้ามีคิวก็กะเวลาเลยคิวละ 30 นาที เจ้าหน้าที่จะตรวจเอกสารว่าครบถ้วนดีไหม แล้วให้ฝ่ายหญิงเขียนชื่อนามสกุลที่เราต้องการใช้หลังสมรสค่ะ ต้องเลือกว่าจะใช้นามสกุลเดิมหรือเปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามีเท่านั้น ไม่สามารถเอานามสกุลสามีมาต่อท้ายนามสกุลเดิมได้ค่ะ กรณีของเมย์ เมย์ยังไม่ทำเรื่องขอวีซ่าติดตามคู่สมรส เพราะแพลนจะย้ายไปทีหลังค่ะ ในเอกสารต้องระบุว่าสามีอยู่สวิส ส่วนภรรยาอยู่ที่ไทยค่ะ ถ้าคนที่ทำเรื่องขอย้ายไปพำนักที่สวิสจะต้องกรอกฟอร์มวีซ่าและต้องขอใบรับรองความประพฤติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เมย์ไม่ทราบเหมือนกันว่าเค้าจะให้กรอกตอนที่ยื่นเอกสารขอใบทำการสมรสเลย หรือต้องมากรอกตอนที่เอาสำเนาใบคร.2 มาส่ง)
แล้วก็จ่ายค่าธรรมเนียม 150 ฟรังค์ (จ่ายเป็นเงินบาท วันนั้นเรทอยู่ที่ 5,100 บาทค่ะ) หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะออกใบขอทำการสมรส (Marriage Application) ฉบับภาษาอังกฤษให้ แล้วเราต้องนำไปแปลเป็นภาษาไทย เมย์แปลที่ Express Translation อยู่ตรงมหาทุนพลาซ่า BTS เพลินจิต หน้าละ 500 บาท ค่ะ ถ้าให้เค้าเอาไปรับรองเอกสารที่กงศุลฯ แจ้งวัฒนะให้ราคาอยู่ที่ 1,600 บาทค่ะ ของเมย์ไปเองค่ะ เพราะเรื่องมันยาว ยาวมากจนถ้ารู้ว่ามีปั๋วมันยุ่งยากขนาดนี้จะมีดีไหมเนี่ยะ 5555+ ค่ารับรองอยู่ที่ 400 บาท ถ้าจะเอาแบบด่วนแปลวันเดียวได้ต้องรีบไปแต่เช้าค่ะ เพราะเค้ารับแค่ 50 คิวต่อวัน เตรียมสำเนาพาสปอร์ตของฝ่ายชายไปด้วยนะคะ เมย์ให้เค้าส่งทางไปรษณีย์ให้ที่บ้าน เสียค่าส่งไปรษณีย์เพิ่ม 60 บาทค่ะ ไปแปลบ่ายวันศุกร์ วันอังคารเที่ยง (อยู่กทม.) ได้รับเอกสารแล้วค่ะ

ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรส
เอกสารที่ใช้
ฝ่ายชาย
- หนังสือเดินทาง

- ใบขอทำการสมรสที่ได้รับรองเอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว

ฝ่ายหญิง
- ทะเบียนบ้านตัวจริง

- บัตรประชาชนตัวจริง

เมย์ไม่ต้องใช้พยานเพราะอำเภอที่ไปจดใช้ชื่อเจ้าหน้าที่อำเภอเป็นพยานให้ค่ะ เจ้าหน้าที่จะให้เรากรอกใบคำร้อง และสอบถามว่าอยู่กินกันมากี่ปี มีลูกด้วยกันไหม และถามเราว่าจะใช้นางหรือนางสาว ใช้นามสกุลเดิมหรือของฝ่ายชาย แล้วก็จะให้ใบรับรองเพื่อให้เรานำไปทำบัตรประชาชนใหม่ และที่สำคัญเมื่อจดทะเบียนเรียบร้อยแล้วอย่าลืมขอสำเนาใบคร. 2 เพื่อเอาไปยื่นให้สถานทูตด้วยนะคะ เมย์จดที่อ.สุขสำราญ จ.ระนองค่ะ เจ้าหน้าที่ให้บริการดีมากๆเลยค่ะ

ขั้นตอนสุดท้ายคือการยื่นสำเนาคร.2 ให้สถานทูต
ยื่นสำเนาใบคร.2 พร้อมสำเนาหนังสือเดินทางของฝ่ายชาย (ถ่ายทุกหน้าที่มีตราประทับเข้าออก) และหญิง ทำได้ในเวลาทำการโดยไม่ต้องนัดหมาย

หลังจากนี้สถานทูตจะส่งเอกสารทั้งหมดไปที่สวิสฯค่ะ

ส่วนฝ่ายหญิงก็ต้องดำเนินการเปลี่ยนเอกสารต่างๆเป็นชื่อหลังสมรส ภายใน 60 วัน (ถ้าหลังจากนี้ก็เสียค่าปรับ 100 บาท) ณ อำเภอที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์น่ะค่ะ ขั้นตอนแรกคือต้องไปเปลี่ยนบัตรประชาชน ต้องเอาใบรับรองที่เราได้จากอำเภอเมื่อตอนจดทะเบียน พร้อมบัตรประชาชน ใบค.ร. 2 (ถ้ามี...ถ้าไม่มีเค้าสามารถคัดออนไลน์ได้ค่ะ) และทะเบียนสมรสตัวจริง ใบยื่นที่อำเภอ เค้าจะออกใบ ช.5 ให้ เเล้วเราก็เอาใบช.5 พร้อมทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ทะเบียนสมรส เเละใบรับรอง...เจ้าหน้าที่จะให้ถ่ายเอกสารใบช.5 พร้อมทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ทะเบียนสมรส เเละใบรับรองอย่างละ 2 ใบ เเล้วก็กรอกแบบฟอร์มคำร้องเเล้วไปถ่ายบัตรได้เลยค่ะ

หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆคนนะคะ

ข้อมูลอัพเดตเมื่อ 10 ม.ค. 2557